วิทยาศาสตร์ ม.ต้น

วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : International Junior Science Olympiad (IJSO)

เป็นการแข่งขันความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั้ง 3 สาขาวิชา คือ ชีววิทยา ฟิสิกส์ และเคมี เป็นการแข่งขันระหว่างนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา อายุไม่เกิน 15 ปี เริ่มครั้งแรก ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 5 – 14 ธันวาคม พ.ศ. 2547 มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 29 ประเทศ ประเทศไทยได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ครั้งแรก จำนวนนักเรียน 6 คน ได้รับรางวัลเหรียญทอง 2 เหรียญ และเหรียญเงิน 4 เหรียญ และการแข่งขันได้ดำเนินจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบัน

การจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในประเทศไทย มูลนิธิ สอวน. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และศูนย์มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงใน กรุงเทพมหานคร. คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินการสอบคัดเลือก จัดอบรม และคัดเลือกนักเรียนผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เคยรับสั่งว่า “การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์  ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนในชั้นมัธยมตอนปลาย”

เพื่อให้การพัฒนานักเรียนที่เก่ง เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงคาดหวังว่านักเรียนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไป มูลนิธิฯ จึงได้ให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย IJSO รอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย จำนวนหนึ่ง เข้าค่าย สอวน. มัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เลยโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ปรากฏว่านักเรียนรุ่นแรกประสบความสำเร็จสูง คือ นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน (เหรียญเงิน IJSO) ได้เหรียญทองวิชาชีววิทยา และ ได้อันดับที่ 1 ของโลก สมดังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเคยรับสั่งว่า

“ถ้าพื้นฐานแน่น วิชาการจะแข็ง”

ในปี พ.ศ. 2566 หรือ ค.ศ. 2023 ประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 (The 20th International Junior Science Olympiad) จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้จัดกิจกรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูประการ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีต่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของประเทศนานัปการ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของประเทศให้นานาชาติได้รับทราบและเป็นที่ยอมรับทางวิชาการมากยิ่งขึ้น

แผนการดำเนินงานการจัดแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

(IJSO)

มูลนิธิ สอวน. ร่วมกับ สสวท. และ สพฐ. ดำเนินการรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวม 16 รุ่น

  1. การรับสมัครสอบคัดเลือก
  • กทม. สมัครผ่านศูนย์โรงเรียน 3 แห่ง คือ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสารวิทยา โรงเรียนศึกษานารี
  • ส่วนภูมิภาค สมัครผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 – 42 ทั้ง 40 แห่ง
  1. การให้โควตามีสิทธิเข้าสอบรอบ 2 มีทั้งหมด 2 โครงการ โดยนักเรียนที่ได้รับโควตาต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดทุกประการ
  • โควตานักเรียนที่ผ่านการแข่งขันโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
  • โควตานักเรียนที่เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา (IMSO) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หมายเหตุ นักเรียนทั้ง 2 โครงการ ต้องได้รับการคัดเลือกและเสนอชื่อมายังมูลนิธิ สอวน. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

  1. การสอบรอบ 1 จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม ของทุกปี โดยจำนวนผู้สมัครสอบประมาณ 6,000 – 8,000 คนทั่วประเทศ โดยข้อสอบจะออกเป็นแบบปรนัย ทั้งหมด 4 วิชา คือวิชาคณิตศาสตร์ วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี และวิชาชีววิทยา เพื่อสอบคัดเลือกเข้ารอบ 2 ประมาณ 300 คน
  2. การสอบรอบ 2 จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ของทุกปี โดยข้อสอบจะออกเป็นแบบอัตนัย (3 วิชา คือ วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี และวิชาชีววิทยา) เพื่อคัดเลือกนักเรียนประมาณ 30 คน เข้าค่ายอบรม และคัดผู้แทนประเทศไทยต่อไป
  3. การจัดอบรมนักเรียนเพื่อสอบคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทย (สอบรอบที่ 3) โดยนักเรียนมาจากการคัดเลือก 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 คือนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกมาจากรอบที่ 1 และ 2 ประมาณ 30 คน

กลุ่มที่ 2 คือนักเรียนที่มาจากโควตาโรงเรียน จำนวน 18 คน เนื่องจากเป็นนโยบายของมูลนิธิฯ ที่จะให้โรงเรียนที่มีศักยภาพสูงออกมาเป็นศูนย์สอบคัดเลือกนักเรียนเอง โดยจากการเก็บสถิติย้อนหลัง พบว่ามีนักเรียนสมัครสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมาก มูลนิธิฯ จึงพิจารณาให้สิทธิโควตาโรงเรียน โรงละ 6 คน มีทั้งหมด 3 โรง คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ได้ให้โควตามาตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2560 มีเพิ่ม 1 โรงคือ และโรงเรียนแสงทองวิทยา  ให้ส่งนักเรียนมาเข้ารับการอบรม

การอบรม

การอบรมจะจัดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม โดยมีระยะเวลาอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เป็นเวลา 21 วัน และจัดสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขัน จำนวน 6 คน ผู้แทนสำรอง จำนวน 4 คน

สถานที่จัดอบรม

  • วิชาชีววิทยา อบรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิชาเคมี อบรมที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • วิชาฟิสิกส์ อบรมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
  1. การอบรมเข้มก่อนการไปแข่งขัน จะจัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม มีระยะเวลาการอบรมจำนวน 9 วัน (อบรม 3 วิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) โดยการอบรมเข้มนี้จะเน้นการวิเคราะห์ข้อสอบเก่า

สถานที่จัดอบรม

  • วิชาชีววิทยา อบรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิชาเคมี อบรมที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • วิชาฟิสิกส์ อบรมที่มหาวิทยาลัยมหิดล