ASC: ASIAN SCIENCE CAMP

โครงการ Asian Science Camp

โครงการ “Asian Science Camp” ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยความร่วมมือระหว่าง ศาสตราจารย์ หลี หยวน เซ (Professor Yuan Tseh Lee) ชาวไต้หวัน ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี พ.ศ. 2529 กับ ศาสตราจารย์ มาซาโตชิ โกชิบา (Professor Masatoshi Koshiba) ชาวญี่ปุ่น ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมที่มีการซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก

2.  ส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างเยาวชนในภูมิภาคเอเชียในอนาคต

รูปแบบกิจกรรม

เป็นกิจกรรมที่เน้นให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก และสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนกล้าแสดงออกทั้งในการซักถามและการเสนอความคิดเห็นจึงกำหนดรูปแบบดังนี้

1. Plenary Sessions เป็นการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลในหัวข้อที่น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ซักถามแสดงความคิดเห็น

2. Round Table Discussions เป็นการจัดให้นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 5-8 คนร่วมให้ความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับหัวข้อใน Plenary Sessions และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ซักถามแสดงความคิดเห็น

3. Parallel Sessions เป็นกิจกรรมกลุ่มย่อย (ประมาณ 2-3 กลุ่ม) ที่ให้เยาวชนเลือกเข้าฟังการบรรยาย สั้น ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ซักถามแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

4. Student to Master Dialogues เป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้พูดคุย ซักถาม แสดงความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองมากขึ้นกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำตามหัวข้อใน Parallel Sessions

5. Evening Talks เป็นกิจกรรมกลุ่มย่อย (7-8 กลุ่ม) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ฟังการบรรยายสั้น ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น แล้วให้พูดคุย ซักถาม แสดงความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองมากขึ้น เพื่อให้เยาวชนมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการซักถาม

6. Poster Session เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกลุ่มกันเองโดยอิสระตามความสนใจ และให้นำสิ่งที่ได้รับฟังมาตลอดมาต่อยอดสร้างเป็นแนวคิดในการที่จะหาคำตอบของเรื่องที่น่าสนใจและนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ มีการจัดแสดงและประกวดโปสเตอร์ในวันสุดท้ายโดยมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการพิจารณาและตัดสิน

การแข่งขันแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. Creative Poster Competition เป็นการแข่งขันในด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากการประมวลความรู้ที่รับฟังมา และนำเสนอแนวคิดที่จะทำต่อไป

2. Question Asking Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักเรียนที่ถามคำถามได้ดีที่สุดระหว่างการบรรยายตลอดค่าย

3. Problem of the Day Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักเรียนที่ตอบคำถามได้ดี และถูกต้องที่สุดตลอด 3 วัน ที่มี Problem of the Day จากการเข้าค่ายทั้งหมด 5 วัน ซึ่งนักเรียนจะต้องตอบคำถามภายในเวลา 10-15 นาที หลังจากที่เห็นคำถาม

ผลที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าค่าย ASC

1. สามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความรักและสนใจที่จะศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น

2. เยาวชนในภูมิภาคเอเชียสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันสำหรับอนาคต

3. เยาวชนมีความเข้าใจในบทบาท และสถานภาพของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้ดีขึ้น

4. เยาวชนมีความกล้าในการแสดงออกทั้งในรูปการซักถาม การนำเสนอแนวคิดของตนเอง