ประวัติความเป็นมาวิชาดาราศาสตร์
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงทราบว่าการที่ประเทศไทยไม่สามารถส่งนักเรียนไปแข่งขันดาราศาสตร์ได้ เพราะขณะนั้นไม่มีการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาเลย จึงได้มีพระดำริให้มูลนิธิฯ ไปหาทางดำเนินการพัฒนาเด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านดาราศาสตร์เหมือนประเทศอื่น ๆ
ในปี พ.ศ. 2546 มูลนิธิ สอวน. ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการ “โครงการนำร่องฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก” ขึ้น ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2546 หลังจากนั้นได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ขึ้น 4 ศูนย์ (ตุลาคม 2551 จะเป็น 8 ศูนย์) ทั่วประเทศ เพื่อฝึกอบรมและคัดเลือกนักเรียนส่งไปแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (ระดับ ม.ปลาย 2 คน) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 ณ เมืองซีเมซ แคว้นไครเมีย ประเทศยูเครน ได้เหรียญเงิน 1 คน และปีต่อมาได้ส่งเข้าแข่งขันทั้งระดับ ม.ต้น (3 คน) และระดับม.ปลาย (2 คน) และยังส่งเข้าแข่งขันดาราศาสตร์ภาคพื้นเอเชียระดับ ม.ปลาย (3 คน) ด้วย
จุดเริ่มต้นการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เคยรับสั่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และเมื่อทรงทราบว่ามูลนิธิฯ จะอบรมดาราศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับสั่งกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าอย่าสอนให้ดูแต่ดาวอย่างเดียว จะต้องสอนเกี่ยวกับการคำนวณที่มีตัวเลขมาก ๆ ด้วย” ซึ่งก็คือฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เพราะดาราศาสตร์ปัจจุบันเป็นวิชาที่ผสมผสานกับวิชาอื่น ๆ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ ในปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลได้อนุมัติให้มูลนิธิฯ จัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2550 ณ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยมีเจ้าภาพร่วมจัดงาน คือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 22 ประเทศ ประเทศละ 5 คน ประเทศไทยได้ 3 เหรียญทอง และ 2 เหรียญเงิน การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกวิชาการสากล ซึ่งริเริ่มจากประเทศไทย และแสดงถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ และนักฟิสิกส์ไทยว่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้จัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12 – 21 พฤศจิกายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ภูเก็ต เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 44 ประเทศ ผู้แทนประเทศไทยได้รับรางวัล 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
ปัจจุบันศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์ มี 12 ศูนย์
- ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
- ศูนย์ สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
- ศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- ศูนย์ สอวน. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
- ศูนย์ สอวน. โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
การรับสมัคร : เปิดรับสมัครช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคมของทุกปี
การสอบคัดเลือก : เดือนสิงหาคมของทุกปี
ประกาศผล : ประมาณเดือนกันยายนของทุกปี
ค่าย 1 :
นักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกจะเข้าอบรมช่วงเดือนตุลาคม
ค่าย 2 :
นักเรียนที่ผ่านสอบค่าย 1 จะเข้าอบรมค่าย 2 ช่วงเดือนมีนาคม
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เป็นการแข่งขันระหว่างนักเรียนของทุกศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์ ทั่วประเทศ
และจะคัดเลือกนักเรียนผู้ประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 3 คน และ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 5 คน เพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ต่อไป
สิทธิพิเศษเข้าศึกษาตรง
มหาวิทยาลัยให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนของศูนย์สอวน. ในการให้เข้าศึกษาตรงในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิฯ จะนำรายละเอียดต่างๆ ขึ้นเว็บไซต์ของสอวน. หรือ มหาวิทยาลัยที่ให้สิทธิพิเศษ